- รีวิวเทคโนโลยี
- ล่าสุด
เทียบความแรง MacBook Air M1 VS M2 ชิปไหนดีที่ควรลงทุน!?
by Utech 6365 Views
MacBook Air M2 ถูกวางจำหน่ายในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ถือว่าเป็นรุ่นใหม่กว่าประมาณ 2 ปีเมื่อเทียบกับรุ่นพี่ MacBook Air M1 ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2020 ดังนั้นตัว M2 จึงได้รับการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ฮาร์ดแวร์ด้านในเท่านั้น แต่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการปรับโฉมดีไซน์ด้านนอกด้วย สิ่งที่อัพเกรดมาอย่างเห็นได้ชัดนั่นก็คือชิปเซ็ตที่ดีกว่า และจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น (13.6 นิ้ว จากเดิม 13.3 นิ้ว) แต่ทว่า Apple ก็ยังไม่ได้มีการประกาศเลิกจำหน่ายรุ่น M1 (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) แล้วคุ้มไหมที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อรุ่นใหม่?
เรียกว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการไอทีก็น่าจะไม่เกินจริงหลังจากที่ UTECH ประกาศลดราคาและขาย MacBook Air M1 ในราคาสุดช็อกที่ 27,900 บาท (ราคาศูนย์ Apple อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เขียนบทความนี้อยู่ที่ 34,900 บาท) แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าตอนนี้ MacBook Air ไม่ได้มีเพียงรุ่น M1 แต่มีรุ่น M2 ออกมาจำหน่ายแล้วเช่นกันเลยอาจจะทำให้หลายท่านเกิดข้อสงสัยและเกิดความลังเลว่า “รุ่นไหนเหมาะกับเรา?” “รุ่นไหนแรงกว่ากัน?” “รุ่นไหนคุ้มที่สุด?” โดยในบทความนี้เราจะว่ากันด้วยเรื่องประสิทธิภาพความแรงชิปเซ็ตรุ่นราคาระดับเริ่มต้นทั้งสองรุ่น และวิธีการที่เราจะใช้คือการอิงจากผลคะแนน Benchmark ที่ถูกทดสอบโดย Macworld และ Nanoreview เป็นหลัก โดยมีผลการทดสอบทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ ประสิทธิภาพการประมวลผลของ CPU / GPU, ประสิทธิภาพในการเรนเดอร์งานตัดต่อและการ Encode ไฟล์วิดิโอ, และสุดท้ายคือประสิทธิภาพในการเล่นเกม!
มาเริ่มกันด้วยผลคะแนนการทดสอบประสิทธิภาพ CPU ต้องบอกก่อนว่ารุ่นที่ถูกนำมาทำการทดสอบนี้เป็นรุ่นเริ่มต้นที่มี CPU แบบ 8 คอร์ Ram ขนาด 8 GB และ SSD ขนาด 256 GB เหมือนกันทั้งคู่เพื่อความแฟร์ โดยผลการทดสอบแรก ทั้งทาง Macworld และ NanoReview ได้ใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Geekbench 5 มาช่วยทำการทดสอบ สำหรับใครที่ไม่รู้จัก โปรแกรมนี้สามารถช่วยวัดประสิทธิภาพ CPU ของชิปเซ็ตได้ โดยจะใช้ระบบการให้คะแนนที่แยกประสิทธิภาพแบบ Single-core (การวัดผลคะแนนจาก 1 แกน CPU) และ Multi-core (การวัดผลคะแนนจากทุกแกนใน CPU) และในชุดคำสั่งจะอิงจากระบบที่ออกแบบมาเพื่อจำลองสถานการณ์การใช้งานในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น การเช็คอีเมล การถ่ายรูป การเล่นเพลง รวมไปถึงการประมวลผล AR และความฉลาดด้าน AI ของตัวชิปเอง และผลคะแนนในรอบนี้ MacBook Air M2 มีประสิทธิภาพการประมวลผลด้าน CPU ทั้งในแบบ Single-Core (1,901 ต่อ 1,730) และ Multi-Core (8,768 ต่อ 7,528) ที่ดีกว่า MacBook Air M1 ประมาณ 15%
เพื่อให้แน่ใจว่าผลคะแนนการทดสอบครั้งนี้มีความแม่นยำและความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด จึงได้มีการรันเครื่องมือทดสอบอีกหนึ่งตัวนั่นก็คือ Cinebench R23 โดยจะแยกคะแนน Single-Core และ Multi-Core เหมือนเดิม แต่ในคราวนี้ชุดคำสั่งการทำงานจะแตกต่างออกไป เพราะ Cinebench R23 จะเน้นที่ผลการทดสอบว่าชิปเซ็ตสามารถทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพเมื่อต้องโหลด CPU ในระดับสูงหรือไม่ โดยขั้นตอนนี้ ระบบระบายความร้อนจะเข้ามาร่วมมีน้ำหนักในผลคะแนนด้วย หากการระบายความร้อนของตัวแล็ปท็อปเพียงพอสำหรับงานที่ต้องใช้เวลาประมวลผลหรือการเรนเดอร์ที่นานขึ้น CPU ก็จะประมวลผลได้เต็มศักยภาพ เพราะถ้าความร้อนสูงเกินไปจนระบายออกไม่ทัน ระบบจะลดประสิทธิภาพการทำงานลงทันทีและอาจจะเกิดอาการเครื่องดับระหว่างใช้งานได้ ในส่วนของผลคะแนนแตกต่างจาก Geekbench 5 เล็กน้อย ด้าน Single-Core ทาง M2 ทำคะแนนได้มากกว่า M1 ประมาณ 5% เท่านั้น (1,555 ต่อ 1,496) ส่วนในด้าน Multi-Core ทาง M2 ยังคงนำ M1 เท่าเดิมที่ประมาณ 15% (7,944 ต่อ 6,836)
เครื่องมือวัดค่า Benchmark สามารถช่วยวัดค่าประสิทธิภาพมาตรฐานของ CPU และมีผลการทดสอบที่สามารถตอบสนองความสุขทางใจให้กับชาวเนิร์ดที่ต้องการเห็นผลคะแนนในรูปแบบตัวเลขได้ดี แล้วผลการทดสอบในรูปแบบการใช้งานในโลกแห่งความเป็นจริงล่ะ? ผลการทดสอบความแรงที่เป็นตัวเลขเหล่านี้จะทำงานเก่งสมราคาคุยไหม? มาเริ่มจากการทดสอบ Export วิดิโอระดับ ProRes คุณภาพระดับ 4K ในโปรแกรม iMovie (โปรแกรมนี้ถูกพัฒนาโดย Apple จึงรองรับการทำงานและเข้ากันได้ดีกับสถาปัตยกรรมของชิป M1 และ M2) หลังจากที่เห็นผลทดสอบแล้วต้องยอมรับว่าในรอบนี้ M2 ทำได้ดีกว่า M1 อย่างเห็นได้ชัด โดยใช้เวลาประมวลผลไปแค่เพียง 157 วินาที ในขณะที่ด้าน M1 ใช้เวลาประมวลผลไปกว่า 243 วินาที หรือช้ากว่า M2 ประมาณ 50% เลยทีเดียว ต้องขอบคุณการพัฒนาด้านชิปประมวลผลที่รองรับการ Encode ที่หลากหลายและดีขึ้น แต่หากมาดูผลการทดสอบที่เป็นการ Export รูปแบบ High ที่ไม่ใช่ ProRes จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพการประมวลผลแทบจะไม่หนีกันเลย M2 ประมวลผลเสร็จที่ 285 วินาที ส่วน M1 ประมวลผลแล้วเสร็จที่ 289 วินาที ดังนั้น M2 เสร็จงานไวกว่าแค่เพียง 4 วินาทีเท่านั้นเอง!?
ลองเปลี่ยนมาทำงานบนโปรแกรมแปลงไฟล์ บีบ อัด ย่อ ขยาย เข้ารหัสวิดิโอ อย่าง HandBrake กันบ้าง โปรแกรมนี้ไม่ได้พัฒนาโดย Apple แต่ไม่ต้องกังวลเพราะมีการปล่อยอัพเดทให้รองรับการทำงานกับชิป Apple Silicon เรียบร้อยแล้ว โดยในผลการทดสอบแรกเป็นการทดสอบการเข้ารหัสแบบ H.265 หรือการเข้ารหัสวิดิโอคุณภาพสูง แต่มีขนาดไฟล์เล็ก จึงต้องใช้ประสิทธิภาพการประมวลผลจาก CPU ที่ค่อนข้างหนัก และในรอบนี้ M2 ประมวลผลงานเสร็จที่ 1,188 วินาที ส่วน M1 แล้วเสร็จที่ 1,415 วินาที ห่างกันประมาณ 15% หรือเกือบ 4 นาทีเลยทีเดียว! ด้านการทดสอบแบบบีบอัดวิดิโอคุณภาพระดับ H.265 รอบนี้ไม่หนีห่างกันเท่าไรนัก M2 แล้วเสร็จที่ 307 วินาที ด้าน M1 จบงานที่ 326 วินาที หรือ M2 เร็วกว่า M1 ประมาณ 5% เท่านั้น
มาถึงการทดสอบสุดท้าย นั่นก็คือการทดสอบการเล่นเกม โดยจะใช้การวัดค่า Frames Per Second หรือ FPS มาเป็นตัวบ่งชี้ความลื่นไหลในการเล่น และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า MacBook ที่ถูกนำมาทำการทดสอบทั้งสองรุ่นนี้เป็นรุ่น Entry ดังนั้น ตัว M1 จะมี GPU อยู่ที่ 7 คอร์ และ M2 ที่ 8 คอร์ แต่ถึงอย่างนั้น ผลการทดสอบจากเกม Rise of the Tomb Raider ในกราฟิกระดับ High ก็ชวนสับสนเล็กน้อย เพราะ M1 ที่เป็นชิปรุ่นเก่ากว่า และมีแกน GPU ที่น้อยกว่า กลับมี FPS ที่ลื่นไหลกว่าทางฝั่ง M2 ถึง 30% เลยทีเดียว (37 FPS ต่อ 29 FPS) แต่พอปรับระดับกราฟิกมาเป็น Medium ก็พบว่าทั้งสองรุ่นสามารถรันได้ที่ 60 FPS ทั้งคู่ โดยความสับสนนี้คาดว่าอาจจะเกิดจากการที่ชิปรุ่นเก่าย่อมมีการอัพเดทที่รองรับและเข้ากันได้ดีมากกว่ารุ่นใหม่จากตัวเกมก็เป็นได้
เพื่อให้หายแคลงใจจากผลการทำสอบชวนงง จึงได้มีการทดสอบอีกครั้งกับเกม Civilization VI และผลการทดสอบที่ได้จากเกมนี้ก็ออกมาในแบบที่มันควรจะเป็น MacBook Air M2 มีเฟรมเรตภาพที่ลื่นไหลกว่ารุ่น M1 ทั้งในระดับกราฟิกแบบ High และ Medium กว่า 10 FPS เลยทีเดียว
หลังจากที่ได้เห็นผลการทดสอบทั้ง 3 ด้าน หลายคนก็น่าจะเริ่มตัดสินใจกันได้แล้วว่ารุ่นไหนเหมาะกับการใช้งานและงบประมาณในการเลือกซื้อมากที่สุด และเราสามารถสรุปสั้น ๆ อีกครั้งได้ว่า MacBook Air M1 นั้นยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก MacBook ที่ดีเยี่ยมในเรตราคานี้ ยิ่งหลังจากที่มีการปรับราคาใหม่จากทาง UTECH ยิ่งไม่มีอะไรให้ตั้งคำถามในความคุ้มค่าอีกแล้ว เพราะมันเป็นเรตราคาที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาตร์ของ MacBook และแน่นอนว่าผู้ที่ต้องการซื้อรุ่น Air คงไม่ได้ซื้อไปใช้ทำงานหนักระดับเรนเดอร์ภาพ 3 มิติ หรือเล่นเกมปรับภาพสูงสุดแน่นอน จุดขายที่ยังทำให้ MacBook Air นั้นน่าดึงดูดกว่าใครนั่นคือจอภาพที่สวยงาม โมเดลที่โฉบเฉี่ยว น้ำหนักที่เบาบาง และชิปประมวลผลที่แรงยิ่งกว่า MacBook Pro รุ่นก่อน ๆ เสียอีก ในส่วนของ MacBook Air M2 หากถามว่าคุ้มไหมกับราคาที่ต่างกันร่วมหมื่นกว่าบาท เราก็คงต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับการใช้งานและความพึงพอใจของแต่ละคน อิงจากผลการทดสอบแล้วประสิทธิภาพของชิปก็ไม่ได้หนีห่างกันมากเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ได้มากับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มจะเป็นในเรื่องของขนาดจอที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย โมเดลที่ดูสวยกว่าเดิม ชิปเซ็ตรุ่นที่ใหม่กว่าและแรงกว่าประมาณ 20% รองรับการอัพเดทและทำงานได้มากกว่าในอนาคต รวมไปถึงฟีเจอร์ที่มีมาแค่เฉพาะรุ่นใหม่เท่านั้น หากยังตัดสินใจไม่ได้ สามารถไปทดลองเล่นตัวจริงได้แล้ววันนี้ที่หน้าร้าน UTECH จับตัวไหนแล้วถูกชะตามากกว่ากันก็พาน้องกลับบ้านได้เลยไม่ต้องพรีออเดอร์!