• สาระน่ารู้
  • ล่าสุด

Mechanical Keyboard ทำงานยังไง เปิดกลไกคีย์บอร์ดสายพันธุ์แกร่ง

โพสต์เมื่อ 24 Jun 2024
by Utech 152 Views
wysiwyg/1_49.jpg

     คีย์บอร์ดเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าคีย์บอร์ดที่เราใช้กันนั้นมีหลากหลายประเภท โดยเฉพาะคีย์บอร์ดประเภท Mechanical Keyboard หรือคีย์บอร์ดแบบกลไก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในกลุ่มของเกมเมอร์และคนทำงาน ด้วยฟังก์ชันที่ให้ฟีลลิ่งในการใช้งานที่ดี พิมพ์สนุก พิมพ์แม่น แม้จพได้รับความนิยมแต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Mechanical Keyboard ทำงานยังไง วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจกัน

ทำความรู้จัก Mechanical Keyboard

     Mechanical Keyboard หรือคีย์บอร์ดแบบกลไก เป็นคีย์บอร์ดที่ใช้สวิตช์แบบกลไก (Mechanical Switch) ซึ่งเป็นกลไกแบบกายภาพภายในแทนระบบเมมเบรนในคีย์บอร์ดทั่วไป เมื่อเรากดแป้นคีย์ สวิตช์กลไกจะทำงานเปลี่ยนการกดให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าแล้วส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์ ซึ่งแตกต่างจากคีย์บอร์ดแบบเมมเบรนที่ใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์แทน

ส่วนประกอบหลัก Mechanical Keyboard

wysiwyg/2_51.jpg
  1. สวิตช์แบบกลไก (Mechanical Switch) เป็นหัวใจสำคัญที่ทำหน้าที่เปลี่ยนการกดแป้นคีย์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า สวิตช์แบบกลไกมีอยู่หลายยี่ห้อ เช่น Cherry, Gateron, Kailh เป็นต้น โดยแต่ละยี่ห้อจะมีความรู้สึกในการกด รูปแบบการกด รวมถึงเสียงตอบรับที่แตกต่างกันออกไป
  2. คีย์แคป (Keycaps) เป็นแผ่นพลาสติกหรืออะคริลิกที่อยู่บนสวิตช์กลไก เป็นส่วนที่เราสัมผัสและกดเพื่อพิมพ์งาน โดยคีย์แคปมีรูปแบบและดีไซน์ให้เลือกมากมาย สำหรับใช้กับงานต่างๆ
  3. แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) เป็นแผงวงจรที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของสวิตช์กลไก รับส่งสัญญาณระหว่างคีย์บอร์ดกับคอมพิวเตอร์
  4. แผ่นโลหะหรือเพลท (Plate) เป็นแผ่นโลหะหรือพลาสติกที่ใช้ในการติดตั้งและรองรับสวิตช์กลไกให้มั่นคง ป้องกันการหลวมหรือหลุดระหว่างใช้งาน
  5. ตัวเรือนหรือเคส (Case) เป็นตัวเรือนที่ใช้สำหรับรองรับและประกอบส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน มักทำจากพลาสติกหรือโลหะ มีทั้งรูปแบบบาง หนา ปรับได้หลากหลาย

รู้ไหม Mechanical Keyboard ทำงานยังไง

wysiwyg/3_50.jpg


     Mechanical Keyboard  ทำงานโดยเมื่อเรากดพลาสติกคีย์แคปลงไป แรงกดจะถูกส่งผ่านไปยังสวิตช์กลไกด้านล่าง ทำให้ก้านโลหะที่อยู่ตรงกลางของสวิตช์ถูกกดลง จนสัมผัสกับฟิล์มบางๆ ที่อยู่ด้านล่างของสวิตช์ ซึ่งจะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าให้ไหลเวียน

     เมื่อมีการไหลของกระแสไฟฟ้า แผ่นวงจรพิมพ์จะตรวจจับและแปลงสัญญาณให้เป็นข้อมูลดิจิทัล แล้วส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงผลเป็นตัวอักษรหรือคำสั่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า

     เมื่อเราปล่อยนิ้วออกจากแป้น ระบบสปริงภายในสวิตช์กลไกจะพาก้านโลหะกลับสู่ตำแหน่งเดิม เตรียมพร้อมสำหรับการกดครั้งต่อไป จึงเป็นวงจรการทำงานที่ต่อเนื่องจนกว่าจะหยุดการกดแป้นคีย์

     นอกจากนี้ ยังมีสวิตช์กลไกบางประเภทที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การตอบสนองเสียงการกด หรือจุดสัมผัสของการกดก่อนจะถึงจุดสุดท้ายของการกด ทำให้สามารถตอบสนองการทำงานได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น


เหตุผลที่คนนิยมใช้ Mechanical Keyboard

  1. ให้ฟีลในการพิมพ์และการเล่นเกมที่ดี การตอบสนองที่รวดเร็ว มีรูปแบบกำลังกดที่แตกต่างกันตามยี่ห้อสวิตช์ที่เลือกใช้ ทำให้ได้รับความรู้สึกสนุก มีพลัง และตอบสนองได้อย่างแม่นยำในการพิมพ์หรือการเล่นเกม ซึ่งแตกต่างจากคีย์บอร์ดธรรมดา
  2. ความคงทนและอายุการใช้งานยาวนาน สวิตช์แบบกลไกมีอายุการใช้งานสูงถึง 50-100 ล้านครั้งการกด ทนทานต่อการใช้งานหนักได้อย่างดีเยี่ยม ไม่เสื่อมสภาพง่ายเหมือนคีย์บอร์ดแบบเมมเบรน
  3. ความสามารถในการปรับแต่งได้ตามสไตล์ เราสามารถเปลี่ยนคีย์แคป สวิตช์แบบกลไก และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้ ทำให้มีโอกาสได้ปรับแต่งประสบการณ์การใช้งานให้เหมาะสมกับตัวเอง
  4. เสียงพิมพ์สนุกและการตอบสนองแม่นยำ สวิตช์แบบกลไกมักจะมีเสียงตอบรับการกดที่ชัดเจน น่าพอใจ เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนบางกลุ่ม อีกทั้ยังมีตัวเลือกสวิตช์ที่แตกต่างกันเพื่อรองรับความต้องการด้านเสียงได้
  5. มีดีไซน์ให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปทรง สี และคุณสมบัติเฉพาะ ล้วนมี Mechanical Keyboard ที่ออกแบบมาให้เลือกมากมาย ทำให้สามารถหาคีย์บอร์ดที่เหมาะกับงานและสไตล์การใช้งานที่ชื่นชอบได้

     คงพอเห็นภาพกันแล้วว่า Mechanical Keyboard ทำงานยังไง ซึ่งก็ต้องบอกว่ามีกระบวนการทำงานที่แตกต่างจากคีย์บอร์ดแบบเมมเบรนทั่วไป โดยสรุปคือเมื่อเรากดแป้นคีย์จะส่งสัญญาณไปยังคอมพิวเตอร์ผ่านทางการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากก้านโลหะในสวิตช์กลไกแทนการใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีฟังก์ชันและประสิทธิภาพดีกว่า ทั้งในด้านการตอบสนอง ความคงทน ประสบการณ์การใช้งาน และการปรับแต่งได้ตามความต้องการ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มคนทำงานและเกมเมอร์ทั่วโลก